การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือการผ่าตัดแผลเล็ก

การผ่าตัดในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การผ่าตัดแนวใหม่ที่ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นั่นคือ "การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือ การผ่าตัดแผลเล็ก" เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่เปิดแผลขนาดเล็กเพื่อสอดเครื่องมือและกล้องเข้าไปผ่าตัดในตำแหน่งที่ต้องการรักษาแทนการเปิดแผลขนาดใหญ่ ทำให้ลดปัญหาที่จะตามมาหลังการผ่าตัด อาทิเช่น การปวดแผลผ่าตัด ท้องอืด ทานอาหารได้ช้า เคลื่อนไหวหรือลุกเดินได้ลำบาก ปอดแฟบ แผลแยก ไปจนถึงปัญหาระยะยาวเช่น การเกิดผังผืดหรือลำไส้อุดตัน Minimal Invasive Surgery [ MIS ] is the new era of surgery for patients and surgeons. The benefits of the minimal invasive surgery are far beyond the traditional surgery.

6/03/2566

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการผ่าตัดผ่านกล้อง การตัดสินใจของคนไข้ควรเลือก การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือการผ่าตัดแบบเปิดแผล อย่างไหนจะดีกว่ากัน

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการผ่าตัดผ่านกล้อง

Laparoscopic Surgery / Endoscopic Surgery / Minimally Invasive Surgery

ตอน    การตัดสินใจของคนไข้ควรเลือก การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือการผ่าตัดแบบเปิดแผล อย่างไหนจะดีกว่ากัน

     เป็นคำถามที่พบบ่อยๆ  คำตอบคือ สำหรับการรักษาในโรคเดียวกันนั้น การผ่าตัดทั้งสองแบบได้ผลการรักษาที่ไม่ได้แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกวิธีผ่าตัดรักษา ขึ้นกับสถานการณ์ และสถานพยาบาลนั้นๆว่ามีความพร้อมหรือไม่ เพราะการผ่าตัดผ่านกล้องไม่ได้สามารถทำได้ทุกโรงพยาบาล และบางโรงพยาบาลยังมีปัญหาความไม่พร้อมทั้งด้านเครื่องมือ และบุคลากรผู้ช่วยผ่าตัด  แต่ถ้าอยู่ในสถานที่ที่พร้อมจะทำการผ่าตัดทั้งสองแบบ การผ่าตัดผ่านกล้องมีข้อดีกว่าหลายประการ ทั้งในด้านการฟื้นตัวหลังผ่าตัดดีกว่า เจ็บแผลน้อยกว่า มีโอกาสเกิดผังผืดในช่องท้องที่อาจทำให้ลำไส้อุดตันในภายหลังได้น้อยกว่า และแผลผ่าตัดเล็กกว่าผ่าตัดแบบเปิดมาก ทำให้มีผลดีในแง่ของความสวยงามเพราะแผลเป็นไม่ใหญ่ และดูไม่น่าเกลียด

   การผ่าตัดแบบเปิดมีข้อดีตรงที่เป็นการผ่าตัดที่ทำกันอย่างแพร่หลายในทุกๆโรงพยาบาล ใช้เครื่องมือตามมาตราฐานเดิมที่โรงพยาบาลมีอยู่ได้ ทีมผู้ช่วยผ่าตัดมีความคุ้นเคยกับการผ่าตัดแบบนี้อยู่แล้ว สามารถทำได้ทุกเวลา แม้เป็นการผ่าตัดแบบฉุกเฉินก็สามารถทำได้ แต่มีข้อเสียคือแผลผ่าตัดใหญ่ เจ็บแผลมากกว่า และใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

  ส่วนการผ่าตัดผ่านกล้อง แม้จะมีข้อดีกว่า แต่ต้องใช้อุปกรณ์การผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่า ใช้อุปกรณ์จำนวนมากกว่า รวมทั้งแพทย์และทีมพยาบาลจำเป็นต้องมีความชำนาญในการผ่าตัดผ่านกล้อง ดังนั้นจะพบว่าปัญหาหลักของการไม่พร้อมในการทำผ่าตัดผ่านกล้องคือปัญหาที่เกิดจากทีมผ่าตัด และความพร้อมของอุปกรณ์การผ่าตัด ซึ่งจะพบว่า แม้แต่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆบางแห่งยังไม่สามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องได้สำหรับการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่มานอกเวลาทำการในตอนกลางวัน จะทำได้เฉพาะในเวลางานปกติเท่านั้น

การผ่าตัดผ่านกล้องใช้ได้สำหรับการรักษาแทบจะทุกโรค ทุกอวัยวะภายในช่องท้อง และช่องปอด ทั้งนี้ขึ้นกับประสบการณ์การทำผ่าตัดของศัลยแพทย์นั้นๆ

  ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องที่แตกต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดที่ชัดเจนคือ มองเห็นบริเวณการผ่าตัดได้ละเอียดกว่า เพราะภาพวิดีโอจากการผ่าตัดผ่านกล้องที่ศัลยแพทย์มองขณะทำการผ่าตัด สามารถขยายขนาดการมองเห็นให้ขัดเจนกว่าการมองภาพปกติได้ตั้งแต่ 4 ถึง 16 เท่า ทำให้เห็นรายละเอียดของอวัยวะที่จะทำการผ่าตัดได้ดีขึ้น และกล้องผ่าตัดชนิดเห็นภาพสามมิติก็จะทำให้เห็นความชัดลึกของบริเวณผ่าตัดมากขึ้น ทำให้มีโอกาสประสพความสำเร็จในการทำผ่าตัดที่ซับซ้อนมากขึ้น และข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องที่ผู้ป่วยไม่ค่อยทราบกันอีกข้อหนึ่งก็คือ การผ่าตัดโดยมองภาพและทำผ่าตัดผ่านกล้องนั้น สัญญานภาพที่มาปรากฏให้เห็นบนทีวี  สามารถบันทึกภาพการผ่าตัดลงเป็นไฟล์ดิจิตอลได้และโรงพยาบาลมีหน้าที่เก็บไฟล์ที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานการผ่าตัดที่ละเอียดได้ตลอดทั้งการผ่าตัด เสมือนเก็บเวชระเบียนที่เกี่ยวกับการผ่าตัด ดังนั้นหลักฐานการผ่าตัดที่ได้จะมีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้วิธีการผ่าตัด ใช้สำหรับทบทวนการผ่าตัด เมื่อการผ่าตัดนั้นมีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถกลับมาทบทวนวิธีการผ่าตัดได้ ศัลยแพทย์บางท่าน หรือบางโรงพยาบาลก็อาจคัดลอกไฟล์ผ่าตัดให้กับผู้ป่วยไว้เป็นข้อมูลเผื่อเวลาที่ผ่านไปบางครั้งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง หรืออาจต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นโรคเดิมหรือโรคอื่น ก็สามารถใช้ทบทวนการผ่าตัดที่เคยทำไปแล้ว เพื่อช่วยวางแผนการผ่าตัดครั้งต่อไปว่ามีข้อควรระวังที่อวัยวะตำแหน่งไหนเป็นพิเศษหรือไม่   และมีประโยชน์อีก ในกรณีที่การผ่าตัดยากหรือมีปัญหาใดเกิดขึ้นในระหว่างการผ่าตัด ศัลยแพทย์ก็สามารถใช้วิดีโอบันทึกภาพการผ่าตัดนี้อธิบายแก่ผู้ป่วยและญาติให้เข้าใจโดยเห็นภาพจริงของการผ่าตัดเพื่อป้องกันปัญหาความไม่เข้าใจ หรือคลางแคลงใจในผลการรักษา หรือวิธีการผ่าตัด อันจะทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างแพทย์ และผู้ป่วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น