เป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับห้าในประเทศไทย โดยมีการตรวจพบโรคนี้ทั่วประเทศประมาณ 3000-5000 คนต่อปี หรือ ในทุก 12,000 คน มีโอกาสตรวจพบโรค 1 คน ( 1ต่อ 12,000 )
แต่ในสหรัฐอเมริกา คนมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมากกว่าในประเทศไทย คือ
ในทุก 1,450 คน พบคนเป็นโรค 1 คน สาเหตุน่าจะมาจากการที่มีคนสูงอายุเพิ่มขึ้น และพฤติกรรมการกินอาหารที่นิยมทานไขมันสัตว์มาก แต่ทานอาหารที่มีเส้นใยหรือกากน้อย
รูปแสดงการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายโดยก้อนเริ่มจากผนังลำไส้แล้วค่อยๆขยายขนาดขึ้น |
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมักพบ ในคนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายเท่าๆกัน ประมาณ 5-10% ของผู้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมได้
ดังนั้น หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ ญาติสายตรงได้แก่ พ่อ แม่ พี่-น้อง ลูกของคนที่เป็นโรคถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งได้เช่นกัน
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมักเริ่มต้นมาจากเนื้องอกธรรมดา (polyp) ที่เยื่อบุผนังลำไส้ โดยโอกาสกลายเป็นมะเร็งขึ้นกับชนิดและขนาดของเนื้องอกเหล่านั้น หากตรวจพบเนื้องอกธรรมดาก็ควรติดตามอย่างต่อเนื่อง
รูปแสดงก้อนมะเร็งจากระยะแรกสุด (stage 0 ) จนถึงระยะ 4 ที่มีการกระจายไปทางต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด |
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มักพบจะอยู่ที่ปลายล่างของลำไส้ใหญ่ ที่เรียกว่า ซิกมอยโคลอน
( Sigmoid colon and Rectum )
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ลุกลามหรือกระจายออกนอกลำไส้ไปได้หลายทาง เช่น ลามเข้า
อวัยวะใกล้เคียง ลามหรือกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองในขั้วลำไส้ หรือกระจายตามกระแสเลือดไปสู่อวัยวะที่ห่างออกไป เช่น ตับ ปอด กระดูก สมองหรือเข้าช่องท้อง
โดยรวมถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 2 ปีหลังจากที่วินิจฉัยได้แล้ว สาเหตุการตายเกิดจากมะเร็งอุดตัน ลำไส้ หรืออวัยวะอื่นถูกทำลายจากเนื้อมะเร็ง
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อาจเป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการใด ๆ จนถึงมีอาการ
หลายอย่างร่วมกัน ขึ้นกับตำแหน่ง ขนาดและลักษณะของก้อนมะเร็ง และการลุกลามของโรค
ลักษณะที่เด่นคือ อาการเหล่านี้มักเริ่มทีละน้อย เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และ
รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ
อาการที่พบได้บ่อยได้แก่
1. ถ่ายเป็นเลือด เป็นผลจากการที่ก้อนมะเร็งแตกเป็นแผลและมีเลือดออก แต่บางรายเลือดออกน้อยมากจนมองไม่เห็น แต่การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะพบเลือดในอุจจาระ (fecal occult blood)
2. ถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระก้อนเล็กลง จำนวนอุจจาระที่ถ่ายน้อยลง
ความถี่ในการถ่ายอุจจาระลดลงหรือเพิ่มขึ้น หรือถ่ายท้องผูกสลับท้องเสีย อาการเหล่านี้เป็น
อาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งที่ทำให้ลำไส้ตีบ
3. แน่นท้อง ปวดท้อง ท้องอืด อาการจะทุเลาเมื่อได้ถ่ายอุจจาระหรือผายลม อาการ
เหล่านี้จะพบได้เมื่อลำไส้ตีบลงมาก
4. เพลีย ผอมลง เบื่ออาหาร มักจะพบในผู้ที่มะเร็งกระจายหรือลุกลามไปมากแล้ว บางรายมีการเสียเลือดอย่างเรื้อรังจากก้อนมะเร็งจนทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรงก็มีอาการอ่อนเพลีย
5. คลำได้ก้อนในช่องท้อง ก้อนที่ผู้ป่วยคลำได้อาจเป็นก้อนมะเร็งของลำไส้ใหญ่เอง
หรือก้อนมะเร็งที่กระจายไปยังอวัยวะอื่นในช่องท้อง
ติดตามการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
และขั้นตอนการรักษาในตอนต่อไป
ขอบคุณ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย สำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น