การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือการผ่าตัดแผลเล็ก

การผ่าตัดในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การผ่าตัดแนวใหม่ที่ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นั่นคือ "การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือ การผ่าตัดแผลเล็ก" เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่เปิดแผลขนาดเล็กเพื่อสอดเครื่องมือและกล้องเข้าไปผ่าตัดในตำแหน่งที่ต้องการรักษาแทนการเปิดแผลขนาดใหญ่ ทำให้ลดปัญหาที่จะตามมาหลังการผ่าตัด อาทิเช่น การปวดแผลผ่าตัด ท้องอืด ทานอาหารได้ช้า เคลื่อนไหวหรือลุกเดินได้ลำบาก ปอดแฟบ แผลแยก ไปจนถึงปัญหาระยะยาวเช่น การเกิดผังผืดหรือลำไส้อุดตัน Minimal Invasive Surgery [ MIS ] is the new era of surgery for patients and surgeons. The benefits of the minimal invasive surgery are far beyond the traditional surgery.

5/27/2566

นิ่วในถุงน้ำดี Gallstones

 

นิ่วในถุงน้ำดี  Gallstones

โรคนิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากการจับตัวเป็นตะกอนขึ้นในถุงน้ำดี ปัจจัยมาจากความไม่สมดุลของสารละลายในน้ำดี รวมทั้งการทำงานไม่ปกติของถุงน้ำดีทำให้เกิดนิ่วขึ้น ซึ่งลักษณะของนิ่วจะพบได้หลายแบบ ขึ้นกับส่วนประกอบของนิ่วเอง

    โรคนิ่วในถุงน้ำดีพบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการแสดงออก หรือมีอาการแสดงออกน้อย จนกระทั่งมีอาการรุนแรงจนถึงกับทำให้เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนตามมาได้ การพบนิ่วในถุงน้ำดีจากการตรวจก็ไม่สามรถบอกได้ว่าจะมีอาการเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ส่วนใหญ่เมื่อติดตามไประยะเวลาหนึ่งก็พบว่าจะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นจนทำให้การรักษามีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากขึ้น

   ดังนั้นเมื่อไหร่จึงควรเข้ารับการรักษานิ่วในถุงน้ำดี ก็คือเมื่อเริ่มมีอาการ หรือการตรวจพบว่านิ่วมีจำนวนมาก มีขนาดใหญ่ หรือ พบว่าผนังของถุงน้ำดีหนาตัวขึ้นจากการตรวจพบโดยเอกซเรย์อัลตร้าซาวด์ ซึ่งบ่งชี้ว่าเริ่มมีการอักเสบเรื้อรังของถุงน้ำดีแล้ว

อาการเริ่มต้นของนิ่วในถุงน้ำดีคืออาการอาหารไม่ย่อยบ่อยๆ จุกเสียดแน่นท้องเป็นๆหายๆ หรืออาการคล้ายกรดไหลย้อน โดยส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารมื้อใหญ่หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันสูง เช่น กะทิ เนย นม โดยการแสดงอาการจะไม่สม่ำเสมอ

     นิ่วในถุงน้ำดีจะไม่หายไปเอง การรักษาให้หายขาดคือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก จึงสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้  ดังนั้นการที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีและต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น จึงเป็นการยากในการตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดรักษาในกรณีที่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย

การที่ยังไม่เข้ารับการผ่าตัดรักษาจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนในภายหลัง ทำให้โรครุนแรงขึ้นและการผ่าตัดรักษาทำได้ยากขึ้น หลักการพิจารณาเบื้องต้นสำหรับการจะตัดสินใจเข้ารับการรักษา คือ

   ภาพแสดงลักษณะต่างๆ ของการผ่าตัดถุงน้ำดี จะพบว่ามีความยากง่ายของการผ่าตัดแตกต่างกัน

 


                                    ภาพการผ่าตัดผ่านกล้องถุงน้ำดีที่ยังไม่อักเสบ

 


                                            ภาพการผ่าตัดผ่านกล้องถุงน้ำดีอักเสบ

 



                            ภาพการผ่าตัดผ่านกล้อง ถุงน้ำดีอักเสบ มีเนื้อตายที่ผิว

 


                             ภาพการผ่าตัดผ่านกล้อง ถุงน้ำดีอักเสบเป็นหนอง
                               จะพบได้ว่ามีความยาก-ง่ายในการผ่าตัดต่างกัน 

 

กรณีที่ตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี แต่ยังไม่พบลักษณะว่ามีถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง และไม่มีอาการ จะมีสองทางเลือกคือ

1       ยังไม่เข้ารับการผ่าตัดรักษา แต่คอยสังเกตอาการเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร หรืออาการปวดท้อง และตรวจอัลตร้าซาวด์ถุงน้ำดีทุกปีเพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของนิ่ว  แต่ในกรณีนี้ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดถุงน้ำดีอักเสบทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นด้วย ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้

2       ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดรักษาเอาถุงน้ำดีออก เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

กรณีที่พบนิ่วในถุงน้ำดี และมีอาการผิดปกติในระบบการย่อยอาหาร ควรได้รับการรักษา เพราะจะทำให้ระบบการย่อยอาหารกลับมาเป็นปกติไม่มีอาการท้องอืดแน่นท้องอีก และไม่เกิดโรคแทรกซ้อนในภายหลัง

กรณีตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี และในท่อน้ำดีร่วมด้วย จะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น โดยต้องผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก และส่องกล้องทางปากเพื่อไปขยายท่อน้ำดีและคล้องเอานิ่วในท่อน้ำดีออกด้วย

การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อเจาะเอาถุงน้ำดีออก ในปัจจุบันทำได้ไม่ยาก ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่เกิน 1 ชม. และพักฟื้นในโรงพยาบาล 2 วันก็สามารถกลับบ้านได้  ต่างจากในกรณีที่เกิดถุงน้ำดีอักเสบแล้วบางครั้งอาจจะต้องทำการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องแบบเดิมทำให้ต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดนานกว่า และมีความเจ็บปวดแผลผ่าตัดมากกว่า แบบผ่าตัดผ่านกล้อง

ผู้ป่วยที่พบนิ่วในถุงน้ำดี สามารถขอปรึกษารายละเอียดการรักษาได้โดยตรงที่ แผนกผ่าตัด-ผ่าตัดผ่านกล้อง โรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี 074-801900 ต่อ2101  หรือ 0816980088

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น